Visual Thinking หรือ “กระบวนการคิดเป็นภาพ” คือศาสตร์ของ การจัดระเบียบ และเพิ่มศักยภาพ ในการคิดและสื่อสารจากภายในความคิดสู่ผู้รับสาร ซึ่งนับว่าเป็นวิธีที่สามารถช่วยให้การสื่อเนื้อหาที่มีความซับซ้อน ให้เข้าใจง่าย ชัดเจน และตรงกัน รวมถึงสามารถดำเนินกิจกรรมไปในทิศทางเดียวกันได้
การใช้ภาพมาแทนตัวหนังสือ ทำให้เราเห็นอะไร?
การใช้ภาพมาแทนตัวหนังสือหรือตัวเลขมากมาย ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์และลำดับความสำคัญ และเห็นทิศทางของแต่ละสิ่ง ที่สำคัญคือเราได้เห็นภาพรวม ซึ่งทั้งหมดนี้ จะช่วยให้เราสามารถมองเห็นโอกาสที่เราไม่เคยมองเห็นจากตัวหนังสือหรือตารางตัวเลข ทำให้เราเห็นต้นเหตุของปัญหาและทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนขึ้นผ่านการใช้ กราฟ, mind mapping และไดอะแกรมต่างๆ ที่เข้ามาเป็นตัวช่วยได้ตามแต่ละบุคคลถนัด
เนื่องจากมีข้อมูลมากมายอยู่ที่ปลายนิ้ว รอคอยให้เราได้ถ่ายทอดออกสู่โลกกว้าง ทว่าคนเราก็ยังไม่สามารถนำเสนอข้อมูลที่มีอยู่มากมายนี้ได้
เมื่อเราเจอกับข้อมูลหรือมีความคิดที่มากเกินไป เราจะหาวิธีบอกต่อไม่เจอ และเมื่อความคิดไม่ถูกวาดออกมา ข้อมูลเหล่านั้นก็จะไม่ถูกถ่ายทอดสักที
ทักษะ visual thinking จึงเป็นทักษะสำคัญในการพัฒนาความคิดและออกแบบการสื่อสารเพื่อที่จะสามารถนำเสนอความคิดนั้นออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้การสื่อสารเป็นไปด้วยความเข้าใจร่วมกันกับบุคคลอื่นๆ และสามารถดำเนินการให้ไอเดียนั้นเป็นจริงขึ้นมา โดยปกติสมองสามารถประมวลผลภาพได้เร็วกว่าตัวอักษรถึง 60,000 เท่า และจากคำกล่าวที่ว่า “เราจำสิ่งที่ได้ยิน 10% จำสิ่งที่อ่าน 20% แต่จำสิ่งที่เราเห็นและทำได้ถึง 80%” นั้นล้วนแต่แสดงให้เห็นว่า ภาพวาดสามารถสะท้อนสิ่งต่างๆ ออกมาได้มากกว่าข้อความหรือคำพูด
เมื่อเราวาดภาพแนวคิดต่างๆ สมองจะเกิดการจดจำอัตโนมัติระหว่างกระบวนการคิด ทำให้แนวคิดนั้นเข้าใจง่ายขึ้น และจดจำได้ดีขึ้น เราเรียกกระบวนการนี้ว่า “Draw Effect” ลองยกตัวอย่างการอธิบายคำว่า “การก้าวล้ำ (Groundbreaking)”
เคล็ดลับของ visual thinking มีเพียงแค่ “การมีภาพที่อยากจะสื่อสารอย่างชัดเจน”
เมื่อแค่การคิดอยู่ในหัวนั้นชัดเจนได้ไม่เพียงพอ “การวาด” จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญในการจัดระเบียบความคิดของเราได้ เมื่อเห็นภาพชัด การเล่าเรื่องจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อใช้ภาพนั้นประกอบการเล่า พร้อมคำประกอบสั้นๆ หลังจากนั้นเราเพียงแค่ปล่อยให้ภาพเล่าเรื่อง
จะเห็นว่าเรามีกระบวนการคิดหลายขั้นตอนก่อนคิดเป็นภาพออกมา สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้เราจดจำและเข้าใจข้อมูลต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นผลของการคิดเเบบ visual thinking จึงไม่ได้สิ้นสุดแค่การเป็นสื่อกลางการบอกเล่า แต่ยังสามารถช่วยต่อยอดไปยังเรื่องต่างๆได้อย่างไม่รู้จบ เช่น การวางแผน การพยายามหาทางออกของปัญหา การนำเสนอ การระดมความคิด รวมถึงสามารถใช้ใน “การสอน” อีกด้วย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
Visual Thinking 101: introduction | by insKru Thailand | insKru | Medium